#ดูแลความสัมพันธ์ระยะท้ายแบบประคับประคอง

“แม่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็กแต่น้อย มาวันนี้พอเขาโต เขาก็ไล่แม่ออกจากบ้าน”

คนเป็น ‘แม่’พูดพร้อมกับน้ำตาที่ไหลริน บ่นน้อยใจที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
.
.
เมื่อฟังประโยคเดียวแค่นี้ บางคนอาจจะตัดสินไปแล้วว่า ลูกใครหนอ ? อกตัญญูกับแม่ที่เลี้ยงมาได้ลงคอ
ครั้นถามต่อไปว่า แล้วแม่จะอยู่กับใคร แม่ก็ตอบว่าจะย้ายไปอยู่บ้านลูกชายอีกคน

ถ้าเกิดว่าแม่บ่นน้อยใจออกโซเชียลได้ ก็คงจะมีคอมเม้นต์เข้ามาจำนวนมากมาย แล้วแต่ว่าใครจะ #ทีมแม่ หรือ #ทีมลูก และถ้าจำนวนคอมเม้นต์ไปถึงระดับกระจายตัวทั่วสังคม ก็อาจจะมีสื่อมาตามสัมภาษณ์แม่ ลูก แล้วเรื่องระหว่างคนสองคนในบ้านหลังเดียว ก็อาจจะขยายลุกลามบานปลายเป็น Share of the dayได้ในชั่วระยะเวลาไม่นาน
.
.
มนุษย์เราเกิดมามีความเสมอภาคที่ได้มากันทุกคน คืออยู่ในกรงล้อมของ “แก่, เจ็บและตาย” ยังมีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนเราด้วยก็คือ‘ความสัมพันธ์’

ไม่ว่าคนเราจะมีบทบาทความสัมพันธ์แบบใด เช่นพ่อ แม่ ลูก หลาน พี่ น้อง เพื่อน สามี ภรรยา ฯลฯคำว่า ‘ความสัมพันธ์’ เองก็หนีไม่พ้นกรงล้อมดังกล่าวเช่นกัน
.
.
ความสัมพันธ์มีเกิด ความสัมพันธ์มีแก่ บางทีความสัมพันธ์ก็มีเจ็บป่วย ความสัมพันธ์ระยะสุดท้าย แล้วสุดท้ายความสัมพันธ์ก็ตาย

ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ หากคู่ความสัมพันธ์คนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ไม่ยอมพัฒนา และพยายามยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์เดิมตั้งแต่แรก เมื่อถึงเวลาที่ความสัมพันธ์ตาย ก็จะเกิดความทุกข์ที่ต้องพลัดพรากจากความสัมพันธ์แบบเดิม

หากคนเราเข้าใจสิ่งนี้ชัดเจน เราจะไม่คร่ำครวญเรียกร้องหาความสัมพันธ์แบบเดิมอีกต่อไป แต่ให้แปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ พัฒนาไปให้ถึงระดับของคำว่า ‘กัลยาณมิตร’ แทน

เมื่อใดที่ทุกคู่พัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงขั้นนี้ได้ อันเป็นขั้นสูงสุดของทุกความสัมพันธ์ที่แม้แต่ความตายก็พรากความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้ เมื่อนั้นเราจะพบโลกใบใหม่ ที่ต่างจากโลกใบเดิมไปเลยทีเดียว
.
.
ลองนึกถึงภาพความสัมพันธ์แบบ สามี- ภรรยา เป็นตัวอย่างที่ง่ายและชัดเจน ถ้าอยู่ด้วยกันมาเป็น 20-30 ปี ยังไม่พัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นระดับมิตรที่ดีต่อกันได้ ยังยึดโยงติดอยู่กับคำว่า สามี-ภรรยา ก็จะมีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง หึงหวงกัน จนในที่สุดก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่หากสามี- ภรรยาคู่ใด ที่พัฒนาความสัมพันธ์ไปตามระยะเวลาจนเป็นมิตรที่ดีต่อกันได้แล้ว เขาก็จะอยู่ด้วยกันไปได้ตลอดอย่างมีความสุขจนตายจากกัน
.
.
การที่แม่ถูกลูกไล่ออกจากบ้าน ไม่ทุกข์เท่ากับ ความระทมที่ยึดติดอยู่ในความสัมพันธ์เดิมที่มีอยู่ คือ แม่-ลูก

หากวันที่รับรู้ได้ว่า ลูกเติบโตและสมควรใช้ชีวิตลำพังแล้ว พ่อแม่ยินดีและกล้าหาญเพียงพอที่จะปล่อยให้ลูกเดินทางชีวิตของเขาเองไม่ยึดโยงว่าลูกเป็นของเรา พ่อแม่คนใดสามารถสร้างความสัมพันธ์แบบเป็นกัลยาณมิตรกับลูก จะเห็นความงดงามของใจตนเอง ที่ได้ปล่อยให้อีกชีวิตได้งอกงามตามเส้นทางของเขาเอง โดยที่ไม่ต้องไปมีส่วนร่วมทั้งในความสำเร็จและล้มเหลวของเขา
.
.
อย่ามองแค่ลูกไม่กตัญญู แต่มองให้ลึกซึ้งไปถึงว่า นี่คือการยกระดับจิตระยะสุดท้ายของคนเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นการดูแลความสัมพันธ์ระยะท้ายแบบประคับประคองที่จะให้ความสัมพันธ์นั้นตายลงอย่างสงบ และจบลงด้วยดี

หากใครเป็นพ่อ เป็นแม่ แล้วเกิดเรื่องราวอย่างนี้ขึ้น ตั้งสติให้ดี อย่ามัวแต่โกรธ และน้อยใจเลยที่ลูกไล่ออกจากบ้าน แต่ให้มองเห็นแง่มุมของวิกฤติที่จะได้โอกาส ปล่อยวางความสัมพันธ์ที่ยึดไว้อย่างเหนียวแน่นก่อนจะจากโลกนี้ไปต่างหาก

นี่เป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะเตรียมตัวอยู่ให้เป็นสุขกับทุกๆ รูปแบบของความสัมพันธ์
.
.
มาถึงตรงนี้ ชวนให้ผู้อ่านลองทบทวนทุกความสัมพันธ์รอบตัวเราอีกครั้ง หากความสัมพันธ์ใด ยังไม่มุ่งไปสู่ความเป็นกัลยาณมิตร ลองปรับเปลี่ยนมุมมองและท่าทีของเรา ก่อนจะไปถึงระยะท้ายที่ไม่อาจประคับประคองความสัมพันธ์แบบเดิมๆ ไว้ได้อีกต่อไป เพราะถึงอย่างไรทุกความสัมพันธ์ก็ต้องจบลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง อยู่ที่เราเลือกจะจบแบบไหนต่างหาก.

_____________________
วิถีโยคะ : สิงหาคม 2561
เรื่อง : วรรณวิภา มาลัยนวล
ภาพ : www.pixabay.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *